Intel ซื้อบริษัทสแกนไวรัส McAfee

Intel ซื้อบริษัทสแกนไวรัส McAfee

ฮือฮาเหลือเกินเมื่อผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์อันดับ 1 ประกาศซื้อบริษัทแอนตี้ไวรัสอันดับ 1 โดยอินเทล (Intel) ตัดสินใจซื้อแมคอาฟี (McAfee) ในราคา 7,680 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.42 แสนล้านบาทช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายเชื่อ การทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อซื้อกิจการต่างสายพันธุ์ของอินเทลนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการไอทีทั่วโลก

เหตุที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าการซื้อแมคอาฟีของอินเทลจะนำไปสู่การพลิกฟ้าไอทีโลกนั้นมีหลายส่วน ทั้งการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์และตลาดระบบรักษาความปลอดภัยอุปกรณ์ไอที ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อบริษัทผู้ผลิตรายอื่นในตลาด พันธมิตรที่เกี่ยวข้อง และแน่นอนที่สุดคือลูกค้าผู้บริโภคทั้งในกลุ่มองค์กรและผู้บริโภคทั่วไป

อินเทลตกลงซื้อหุ้นแมคอาฟี่ในราคา 48 เหรียญต่อหุ้น สูงกว่ามูลค่าตลาดวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม 53 ถึง 60% โดยยังไม่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานกำกับดูแลในสหรัฐฯ

ตามความคาดหมาย อินเทลมีแผนจะติดตั้งซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสลงในไมโครชิปแบรนด์อินเทล เสริมจากปัจจุบันที่อินเทลได้เริ่มติดตั้งซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสลงในผลิตภัณฑ์ของตัวเองแล้ว แน่นอนว่าการซื้อแมคอาฟีจะเป็นการตอกย้ำว่า อินเทลกำลังจะพาโลกทั้งใบกระโดดเข้าสู่ยุคใหม่ “security-on-silicon” เปลี่ยนจากเดิมที่ผู้ใช้ต้องดิ้นรนซื้อและควานหาซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสมาติดตั้งด้วยตัวเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีผลโดยตรงต่อทั้งอุตสาหกรรมซีเคียวริตี้และอุตสาหกรรมซิลิคอน เนื่องจากที่ผ่านมาอินเทลนั้นมีอิทธิพลมหาศาลต่อวงการคอมพิวเตอร์ทั่วโลก เพราะชิปที่ขับเคลื่อนคอมพิวเตอร์ทั่วโลกมากกว่า 80% นั้นแปะยี่ห้ออินเทลทั้งในกลุ่มคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและเครื่องแม่ข่าย

ไม่ใช่แค่ยุคใหม่ แต่การซื้อบริษัทแอนตี้ไวรัสเบอร์หนึ่งจะทำให้อินเทลสามารถเปิดตลาดใหม่ได้ด้วย โดยอินเทลประกาศว่า การควบรวมกับแมคอาฟีคือส่วนหนึ่งของแผนขยายธุรกิจสู่ตลาดอุปกรณ์พกพาและอุปกรณ์ไร้สาย ทั้งโทรศัพท์มือถือ ระบบนำทางในรถยนต์ โทรทัศน์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้านสุขภาพ

Renee James ผู้บริหารอินเทลฝ่ายซอฟต์แวร์ของอินเทลระบุว่าโอกาสที่อินเทลมองคืออุปกรณ์ออนไลน์หลายพันล้านเครื่องทั่วโลกที่ยังต้องการความปลอดภัยสูง จุดนี้ทำให้อินเทลมองว่าบ่อทองของอินเทลในอนาคตอยู่ที่ตลาดระบบฝังตัว (embedded market) โดยเฉพาะตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีโปรแกรมจิ๋วติดตั้งภายในเพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

เช่นเดียวกับ Dave DeWalt ซีอีโอแมคอาฟีที่เห็นด้วยว่าธุรกิจระบบรักษาความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตนั้นมีโอกาสเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะในยุคที่อุปกรณ์ไร้สายมีบทบาทโดยตรงกับวิถีชีวิตมนุษย์ปัจจุบัน

ทั้งหมดนำไปสู่การตัดสินใจรวมเป็นทองแผ่นเดียวกัน โดย DeWalt โพสต์ให้คำมั่นไว้ในบล็อกหลังการแถลงข่าว ว่าการรวมกันของแมคอาฟีและอินเทลจะนำไปสู่การยกระดับระบบรักษาความปลอดภัยยุคหน้า ซึ่งจะมีผลกับผู้ใช้ทุกคนและอุปกรณ์ทุกเครื่องที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เนื่องจากที่ผ่านมา อาชญากรไซเบอร์นั้นใช้ความเสรีและความสะดวกง่ายดายของอินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตตกอยู่ในความเสี่ยงมาโดยตลอด

อินเทลเชื่อว่า ชิปอินเทลพร้อมซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสแมคอาฟีรุ่นแรกจะเริ่มเปิดตลาดอย่างเป็นทางการในครึ่งปีแรกของปี 2011 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่อุปกรณ์น้องใหม่อย่าง Google TV ที่อินเทลจะร่วมมือกับกูเกิลและลอจิเทคสร้างสรรค์ตลาดทีวีออนไลน์รูปแบบใหม่จะได้ฤกษ์วางตลาด

** แอนตี้ไวรัสรายอื่นไม่หวั่น **

ผู้ผลิตซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสรายอื่นยังคงแสดงท่าทีเข้มแข็งว่าไม่หวั่นใจกับการซื้อแมคอาฟีของอินเทล โดยผู้บริหารบริษัทแพนด้าซีเคียวริตี้ (Panda Security) ให้สัมภาษณ์ว่ายินดีอย่างยิ่งต่อความเคลื่อนไหวนี้ของอินเทล เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือข่าวดีในอุตสาหกรรม เนื่องจากการตัดสินใจขายบริษัทของแมคอาฟีย่อมทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างคึกคักยิ่งขึ้น

Juan Santana ซีอีโอแพนด้าเชื่อว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้เป็นไปตามแนวคิดอมตะที่ว่าการรักษาความปลอดภัยจะเป็นเสาหลักของระบบการประมวลผลยุคหน้า โดยมองว่ากาลเวลาจะบอกเองว่าการควบรวมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องดีหรือร้ายแก่ทั้งลูกค้า พันธมิตร และผู้ถือหุ้นของแมคอาฟีและอินเทล

เหนือสิ่งอื่นใด ผู้บริหารแพนด้าเชื่อว่าข่าวนี้จะทำให้ภาพความสำคัญของระบบรักษาความปลอดภัยนั้นเข้มข้นขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน

ก่อนหน้านี้ อินเทลเคยแสดงท่าทีเตรียมนำเทคโนโลยีของแมคอาฟีมาใช้รักษาความปลอดภัยในระบบเก็บข้อมูลของแอปพลิเคชันและบริการคลาวด์คอมพิวติง (cloud computing) ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์แรงสำหรับบริษัทที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้แอปพลิเคชันออนไลน์และบริการฝากไฟล์บนอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว คาดว่าจะในอนาคตจะมีการเติบโตรวดเร็วในตลาดนี้

แมคอาฟีนั้นเป็นบริษัทในแคลิฟอร์เนียซึ่งก่อตั้งในปี 1987 สามารถสร้างรายได้มากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2009 โดยก่อนหน้าข่าวนี้ เอชพี (HP) ผู้ผลิตพีซีรายใหญ่ก็ประกาศซื้อบริษัทแอนตี้ไวรัสนาม Fortify Software เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ถือเป็นการตอกย้ำความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะพลิกฟ้าไอทีทั่วโลกในอนาคต

ขอขอบคุณข้อมูล : http://www.manager.co.th

Home Personal Antivirus

โปรแกรม Home Personal Antivirus

หลายท่านที่ใช้คอมพิวเตอร์บางท่านอาจจะเคยเห็นโปรแกรม Home Personal Antivirus ขึ้นมาที่หน้าจอของท่าน แล้วก็นึกว่าใครไม่รู้มาลงโปรแกรม Home Personal Antivirus ให้ หน้าตาของโปรแกรม Home Personal Antivirusก็ดูดีซะด้วย แต่พอสแกนทีไรก็บอกว่ามีไวรัสร้ายแรงทุกที หากท่านเห็นโปรแกรม Home Personal Antivirus มีลักษณะนี้ละก็เครื่องท่านได้โดนไวรัสเข้าไปซะแล้ว รูปแบบของ Program Antivirus โปรแกรม Home Personal Antivirus เป็นโปรแกรมจำพวก fake antivirus/antispyware ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับโปรแกรมTotal Secure 2009, XP Deluxe Protector, XP Police Antivirus, WinPC Defender ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อหลอกให้ผู้ใช้งานหรือเหยื่อให้ซื้อโปรแกรมนั่นเ อง โดยหลักการทำงานของมันหลังจากที่เครื่องติดไวรัส สปายแวร์ Home Personal Antivirus แล้ว มันจะทำการสแกนเครื่อง และแจ้งรายงานว่าพบไวรัส สปายแวร์ อยู่ในเครื่อง แต่เมื่อจะลบไวรัส สปายแวร์ออก จะไม่สามารถทำได้ต้องซื้อโปรแกรมHome Personal Antivirus ก่อน นอกจากนี้โปรแกรมHome Personal Antivirus ยังแจ้งข้อความเหมือน windows security alert เพื่อหลอกให้ผู้ใช้งานหลงเชื่อ

Home Personal Antivirus

ไวรัส 3ตัวร้ายภัยคุกคาม Online

เทรนด์ไมโครเผยภัยคุกคามออนไลน์ล่าสุด พร้อมเปิดตัวโซลูชันออฟฟิศ สแกน ที่คว้ารางวัลจากศูนย์วิจัย NSS Labs จับกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ ส่วนกลยุทธ์จะยังคงเน้นให้ความสำคัญกับบริการ และการสนับสนุนฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิมด้วยการทำให้ลูกค้ามั่นใจในตัวเองมากขึ้น และจัดสัมมนาอัปเดตความรู้ใหม่เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและรักษาความปลอดภัยข้อมูลในองค์กร
       
       นายรัฐสิริ ไข่แก้ว ผู้จัดการประจำภูมิภาคอินโดจีน บริษัท เทรนด์ไมโคร อิงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันภัยคุกคามออนไลน์ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง โดยอาชญากรไซเบอร์จะยังคงใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมการท่องอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์ม และเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการค้นหาวิธีการใหม่ๆและวิธีที่ดีขึ้นกว่าเดิมในการแพร่กระจายตัวช่วยในการติดตั้งมัลแวร์ต่างๆ
       
       “แนวโน้มของภัยคุกคามออนไลน์ล่าสุดที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยมี 3 ส่วน คือการค้นหาที่เป็นอันตราย สคริปต์ร้ายกาจยิ่งขึ้น และโฆษณามัลแวร์ นอกจากนี้ การใช้ไซต์เครือข่ายทางสังคมที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลให้เกิดช่องทางใหม่สำหรับการโจมตีในรูปแบบเดิม โดยขณะนี้เครือข่ายทางสังคมตกเป็นเป้าหมายหลักของอาชญากรไซเบอร์แล้ว เช่น Facebook ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 300 ล้านรายทั่วโลกก็ได้ตกเป็นเป้าโจมตีของบ็อตเน็ต KOOBFACE เช่นเดียวกัน”
       
       การค้นหาที่เป็นอันตราย หมายถึงอาชญากรไซเบอร์จะตรวจสอบคำหรือวลีที่มีผู้นิยมใช้ในการค้นหาสูงสุดเพื่อกำหนดเป้าหมายโจมตีไปยังผู้ใช้ซึ่งกำลังค้นหาข้อมูลจากหัวข้อที่กำลังได้รับความนิยม เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมที่ประเทศปากีสถาน เหตุการณ์โคลนถล่มที่ประเทศจีน หรือการเสียชีวิตของดาราหรือนักร้องชื่อดังอย่างไมเคิล แจ็คสัน โดยอาชญากรไซเบอร์เหล่านี้จะพยายามผลักดันเพจที่เป็นอันตรายของตนให้ติดอันดับสูงๆ ในหน้าผลลัพธ์ที่ได้จากการค้นหาเมื่อมีการค้นหาด้วยคำยอดนิยมดังกล่าว
       
       สำหรับสคริปต์ที่เทรนด์ไมโครเชื่อว่าจะร้ายกาจยิ่งขึ้น หมายถึงการหลอกล่อให้ผู้ใช้ทำการดาวน์โหลดจะยังคงเป็นแนวทางหลักที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป สิ่งนี้ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรง เนื่องจากชุดคำสั่งที่ใช้เริ่มการโจมตีนั้นจะอาศัยการโต้ตอบจากผู้ใช้น้อยมาก นั่นคือแค่หลอกล่อให้ผู้ใช้เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่มีอันตรายซ่อนอยู่ก็เพียงพอแล้ว
       
       ขณะที่โฆษณามัลแวร์ อาชญากรไซเบอร์อาจเปลี่ยนลักษณะของโฆษณาที่แฝงไปด้วยอันตรายให้กลายเป็นเนื้อหาที่ดูเป็นเรื่องสำคัญได้ ซึ่งนั่นทำให้การแยกแยะระหว่างเนื้อหาที่ถูกต้องและเนื้อหาที่เป็นอันตรายไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
       
       ลุยทำตลาด
       
       ผลิตภัณฑ์ที่เทรนด์ไมโครได้นำออกสู่ตลาดครั้งล่าสุดนี้คือ เทรนด์ไมโคร ออฟฟิศ สแกน ซึ่งเป็นโซลูชันรักษาความปลอดภัยสำหรับจุดรับส่งข้อมูลภายในองค์กรของบริษัท ได้รับการจัดอันดับจากศูนย์ทดสอบเอ็นเอสเอส แล็บส์ (NSS Labs) ว่ามีประสิทธิภาพเยี่ยมในด้านการป้องกันมัลแวร์ที่มาในรูปแบบกลลวงทางสังคม
       
       โซลูชันออฟฟิศ สแกนของเทรนด์ไมโครถูกการันตีว่าได้รับคะแนนในด้านการป้องกันตลอดระยะเวลาการทดสอบที่ 95.2% ส่วนคะแนนการบล็อกไซต์ที่เป็นอันตรายโดยไม่ซ้ำกันอยู่ที่ 86% และได้รับ 60.6% สำหรับเวลาเริ่มต้นในการบล็อก ซึ่งเป็นระยะเวลาการบล็อกภัยคุกคามหลังจากที่ได้รับการเปิดเผยเป็นครั้งแรก ณ จุดส่งข้อมูล โดยเวลาในการบล็อกโดยเฉลี่ยของบริษัท เทรนด์ไมโครไม่ถึง 5 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับเวลาเฉลี่ยโดยรวมที่มีระยะเวลาเกือบสองวัน (45.8 ชั่วโมง) ทั้งนี้ เวลาในการบล็อกคือเวลาเฉลี่ยหลังจากที่ผู้ค้าซอฟต์แวร์ได้เปิดเผยครั้งแรกเมื่อทำการบล็อกภัยคุกคามใหม่
       
       โซลูชันเทรนด์ไมโคร ออฟฟิศ สแกน ออกแบบมาสำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ช่วยปกป้องเครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป แล็ปท็อป เซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล และสมาร์ทโฟน ทั้งที่เชื่อมต่อและไม่ได้เชื่อมต่อกับเครือข่ายองค์กร ด้วยการผสมผสานสุดยอดนวัตกรรมการป้องกันมัลแวร์และการป้องกันแบบออนไลน์จากเทคโนโลยีเครือข่ายป้องกันภัยอัจฉริยะ
       
       รูปแบบการตรวจสอบประวัติไฟล์ใหม่ที่แยกจากอุปกรณ์ปลายทางของผู้ใช้งาน โดยใช้วิธีการย้ายไฟล์แพทเทิร์นไปเก็บไว้บนคลาวด์และการตรวจสอบประวัติเว็บไซต์ที่สามารถปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่เป็นอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสถาปัตยกรรมแบบปลั๊กอิน, ระบบควบคุมอุปกรณ์แบบใหม่, ฟังก์ชัน HIPS, ระบบเสมือนจริงและการขยายแพลตฟอร์มที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดการให้น้อยลง และเพิ่มความยืดหยุ่นได้มากขึ้น
       
       สำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจของเทรนด์ไมโครปีนี้จะยังคงเน้นให้ความสำคัญกับบริการ และการสนับสนุนฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิมด้วยการทำให้ลูกค้ามั่นใจในตัวเองมากขึ้น และจัดสัมมนาอัปเดตความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและรักษาความปลอดภัยข้อมูลในองค์กรให้กับกลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
       
       รวมถึงเน้นทำตลาดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยสำหรับเซิร์ฟเวอร์และศูนย์ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และการพัฒนาคู่ค้ารายสำคัญด้วยโปรแกรมที่คู่ค้าแต่ละรายสามารถกำหนดเองได้ เพื่อให้สามารถบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น